วันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

ทำไมคนจบใหม่จึงได้งานยากกว่าคนมีประสบการณ์

“สัมภาษณ์มาหลายคนแล้ว ไม่มีใครถูกใจสักคน” “เด็กสมัยนี้จบมาคิดว่าตัวเองเก่ง ขอโน่นขอนี่ โดยที่ยังไม่รู้ว่าบริษัทได้อะไรกลับคืนมาบ้าง” “หลักสูตรการศึกษาสมัยนี้แย่จัง สอนคนให้มีความรู้ แต่ไม่ได้สอนคนให้ใช้ความรู้ ทำนองที่ว่าความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” มักจะเป็นคำบ่นของคณะกรรมการสัมภาษณ์หรือเจ้าของหน่วยงานที่กำลังหาคนใหม่เข้ามาร่วมงาน “หาไปเหอะคนเก่งคนดีที่สมบูรณ์แบบ ในโลกนี้ไม่มีหรอก” “ถามอะไรก็ไม่รู้ ก็รู้ๆอยู่เราเพิ่งจบมายังไม่เคยทำงาน แล้วใครจะไปตอบได้” มักจะเป็นคำบ่นของคนถูกสัมภาษณ์หรือนักศึกษาจบใหม่

ลองมาดูว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์บ่นเวลามีการสัมภาษณ์คัดเลือกคนเข้าทำงาน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งจบการศึกษามาใหม่
  • การกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งงงาน (Job Specification and Competency)ไม่ชัดเจน องค์กรส่วนใหญ่มักจะกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งไม่ชัดเจน เช่น กำหนดว่าปริญญาตรีหรือปริญญาโท ประสบการณ์ 0-3 ปี ถ้ามองเพียงผิวเผินก็จะเห็นว่าคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาย่อมได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว ทั้งๆที่ในความเป็นจริงองค์กรไม่จำเป็นต้องกำหนดประสบการณ์ในการทำงานก็ได้ เนื่องจากจบใหม่ก็สามารถทำได้ การรับคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อนนั้นอาจจะมีข้อดีเรื่องชีวิตการทำงาน แต่อย่าลืมว่าเงินเดือนที่จ่ายอาจจะต้องสูงกว่าคนจบใหม่(คนที่จบใหม่องค์กรอาจจะเสียต้นทุนและเวลาในการสอนงาน แต่เสียเพียงครั้งเดียวไม่ผูกผันระยะยาว แต่คนที่มีประสบการณ์และองค์กรจ่ายค่าจ้างเริ่มต้นที่สูงกว่านั้น เป็นต้นทุนที่ผูกพันระยะยาว ลองคิดเปรียบเทียบดูว่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน ก่อนตัดสินใจ) และที่สำคัญคือคนบางคนอาจจะไม่มีแวว(Potential) ที่จะเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไปได้ ทำให้บริษัทได้เพียงคนทำงานในบางตำแหน่ง แต่บริษัทเสียโอกาสในการได้คนที่มีศักยภาพไปก็ได้ (ถือเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้)
  • ผู้สัมภาษณ์ขาดมาตรฐานในการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เคยสัมภาษณ์แต่คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว เวลาสัมภาษณ์คนที่จบใหม่ก็ไม่ได้ปรับรูปแบบในการสัมภาษณ์ให้เหมาะสมกับเนื้อผ้า อาจจะเป็นเพราะว่าผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องเทคนิคและวิธีการสัมภาษณ์ที่เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม และผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะนำเอาประสบการณ์ ความเชื่อและความคิดในชีวิตของตัวเองมาตัดสินผู้ถูกสัมภาษณ์ เช่น ตัวเองเป็นคนที่เรียนไม่เก่ง แต่ขยันทำงานจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก็จะเอาจุดนี้มาถามและถ้าผู้ถูกสัมภาษณ์รายใดไม่เหมือนผู้สัมภาษณ์ก็คงยากที่จะผ่านการสัมภาษณ์ บางครั้งผู้สัมภาษณ์ทำงานมาเป็นสิบยี่สิบปี มักจะย้อนไปถึงชีวิตการหางานของตัวเองและเพื่อนรุ่นเดียวกันเมื่อสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว โดยไม่ทราบว่าเมื่อโลกเปลี่ยน เรื่องราวในอดีตบางเรื่องอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เลยทำให้รู้สึกว่าเวลาสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ๆไม่ค่อยได้ดั่งใจ
  • คนจบใหม่ขาดการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงาน เมื่อมองในมุมของคนที่จบการศึกษาใหม่ ก็พบว่าคนจบใหม่มักจะขาดการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ชีวิตการทำงาน เหมือนเอาน้ำร้อนที่เพิ่งต้มเสร็จใหม่ๆไปเข้าตู้เย็นหรือเอาน้ำแข็งมาใส่ลงในกาต้มน้ำที่กำลังเดือด ทำให้มุมมองและพฤติกรรมของคนจบใหม่หลายคนยังเป็นเหมือนอาจารย์กับลูกศิษย์ ในขณะที่องค์กรกำลังมองคนจบใหม่ว่าเป็นลูกจ้างกับนายจ้างไปแล้ว ทำให้คนที่จบมาใหม่ๆยังคิดว่าไม่เป็นไรหรอกวันนี้สัมภาษณ์ไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ยังมีโอกาส (ทำผิดแล้วยังทำใหม่ได้) แต่เมื่อไปสัมภาษณ์มาหลายๆแห่งแล้วไม่ผ่านการสัมภาษณ์คนจบใหม่ก็มักจะเป็นโรค “ท้อ” และขาดความมั่นใจในตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งความมั่นใจจะผกผันกับจำนวนครั้งที่ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ยิ่งไม่ผ่านการสัมภาษณ์มากเท่าไหร่ ความมั่นใจก็ยิ่งตกลงไปมากเท่านั้น คนที่จบใหม่ยิ่งปล่อยให้การไม่มีงานทำผ่านไปนานเท่าไหร่ ยิ่งกลายเป็นจุดอ่อนในชีวิต
  • คนเก่งเลือกทำงานกับตำแหน่งและองค์กรที่ต่ำกว่าความสามารถของตัวเอง เนื่องจากช่วงเวลาของการจบการศึกษาเป็นเวลาเดียวกัน ในช่วงนั้นก็กลายเป็นโอกาสของคนที่เรียนเก่งกว่า(ส่วนใหญ่จะดูที่ผลการเรียนเป็นหลัก) เมื่อองค์กรต้องการเลือกคนเข้าทำงานก็มักจะเลือกเอาคนเก่งๆไปก่อน ทั้งๆที่ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครก่อนเป็นตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องเอาคนเก่งขนาดเกียรตินิยมอันดับหนึ่งไปก็ได้ แต่องค์กรส่วนใหญ่ขอคัดเอาคนเก่งที่สุดไปก่อน ในขณะเดียวกัน คนเก่งๆก็ลืมคิดว่าไปว่าถ้าตัวเองสามารถผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานกับองค์กรขนาดเล็ก หรือตำแหน่งที่ไม่ค่อยท้าทายได้ น่าจะเลือกทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่และตำแหน่งงานที่ท้าทายกว่านี้ได้
  • มุมมองด้านระบบการศึกษา : ควรปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นและทันยุคทันสมัย สถาบันการศึกษาเปรียบเสมือนโรงงาน ถ้ายังงานไหนเคยผลิตเครื่องพิมพ์ดีด และปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนระบบการผลิตให้สามารถผลิตคีบอร์ดคอมพิวเตอร์ได้ คงจะอยู่ไม่ได้แน่ๆ หรือถึงแม้เปลี่ยนจากการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดมาเป็นผลิตคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ได้แล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถผลิตแผงหน้าปัดของแป้นหรือปุ่มสำหรับป้อนข้อมูลบนหน้าจอโทรศัพท์ได้ ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ในอนาคต
  • มุมมองด้านคนจบการศึกษาใหม่ : รู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มและหางานที่เหมาะสมกับตัวเอง ถ้าต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ คนจบใหม่จะต้องเป็นสินค้าที่มีลักษณะเป็นมัลติฟังก์ชั่นคือมีความสามารถที่หลากหลาย ไม่ใช่รู้เรื่องเดียว เป็นอยู่อย่างเดียวคือสาขาที่ตัวเองจบมา นอกสาขาของตัวเองไม่รู้อะไรเลย เราจะเห็นว่าโทรศัพท์รุ่นที่สามารถโทรเข้าและโทรออกได้เพียงอย่างเดียวปัจจุบันคงไม่มีใครต้องการ ถึงแม้ราคาถูกหรือถึงแม้จะโทรออกและรับเข้าได้ดีหรือใช้ง่ายขนาดไหนก็ตาม ปัจจุบันคนต้องการโทรศัพท์ที่สามารถโทรออกรับเข้าได้ ถ่ายรูปได้ เล่น MP3 ได้ ดูหนังฟังเพลงได้ บอกได้ว่าตอนนี้อยู่ถนนไหนซอยไหน

ขอขอบคุณ : http://www.peoplevalue.co.th/